เนื้อหา ของ สนธิสัญญาสยาม–ฝรั่งเศส ร.ศ. 122

การกำหนดเขตแดนระหว่างประเทศสยามกับประเทศกัมพูชา

เนื้อหาสำคัญของสนธิสัญญานี้ ข้อ 1 เป็นการกำหนดเขตแดนระหว่างประเทศสยามกับประเทศกัมพูชาซึ่งสมัยนั้นเป็นรัฐอารักขา (protectorate) ของประเทศฝรั่งเศส โดยให้ใช้สันปันน้ำ (watershed) หรือที่สมัยนั้นเรียกว่า "ภูเขาปันน้ำ" ซึ่งตั้งอยู่บริเวณเขาบรรทัดหรือที่ในภาษากัมพูชาเรียก "พนมดงรัก" (Pnom Dangrek) เป็นเส้นเขตแดน โดยกำหนดว่า[4]

"เขตแดนในระหว่างกรุงสยามกับกรุงกัมพูชานั้น ตั้งต้นแต่ปากคลองสดุงโรลูออสข้างฝั่งซ้ายทะเลสาบ เป็นเส้นเขตแดนตรงทิศตะวันออก ไปจนบรรจบถึงคลองกะพงจาม ตั้งแต่ที่นี้ต่อไป เขตแดนเป็นเส้นตรงทิศเหนือขึ้นไปจนบรรจบถึงภูเขาพนมดงรัก (คือ ภูเขาบรรทัด) ต่อนั้นไป เขตแดนเนื่องไปตามแนวยอดภูเขาปันน้ำในระหว่างดินแดนน้ำตกน้ำแสนแลดินแดนน้ำตกแม่โขงฝ่ายหนึ่ง กับดินแดนน้ำตกน้ำมูนอีกฝ่ายหนึ่ง จนบรรจบถึงภูเขาผาด่าง แล้วต่อเนื่องไปข้างทิศตะวันออกตามแนวยอดภูเขานี้จนบรรจบถึงแม่โขง ตั้งแต่ที่บรรจบนี้ขึ้นไปแม่โขง เป็นเขตแดนของกรุงสยามตามความข้อ 1 ในหนังสือสัญญาใหญ่ ณ วันที่ 3 ตุลาคม รัตนโกสินทรศก 112"

อนึ่ง ข้อ 3 ว่า ในการกำหนดเขตแดนตามข้อ 1 ให้ภาคีทั้งสองฝ่ายตั้ง "คณะกรรมาธิการร่วม" (Joint Commission) หรือที่ในสมัยนั้นเรียก "ข้าหลวงร่วม" ไปร่วมกันปักปันเขตแดนตามหลักเกณฑ์ที่ระบุไว้ในข้อ 1 นั้นเอง โดยการตั้งคณะกรรมาธิการร่วมนี้ ให้รีบดำเนินการภายในสี่เดือนนับแต่สนธิสัญญามีผลใช้บังคับ[5]

ข้อ 5 ยังระบุว่า เมื่อกระบวนการปักปันเขตแดนเสร็จสิ้นแล้ว ฝ่ายประเทศฝรั่งเศสจะได้สั่งให้ถอนกองทหารของตนที่เข้าประจำการในจังหวัดจันทบุรีโดยอาศัยอำนาจตามสนธิสัญญา ลงวันที่ 2 ตุลาคม ร.ศ. 112 นั้น ออกจากจังหวัดดังกล่าวทันที[6]

การสละอำนาจอธิปไตยเหนือประเทศลาว

ในข้อ 4 แห่งสนธิสัญญาดังกล่าว รัฐบาลสยามยังยอมสละอำนาจอธิปไตยเหนือประเทศลาวให้แก่ประเทศฝรั่งเศส[7] นอกจากนี้ ข้อ 2 แห่งสนธิสัญญา ยังกำหนดเขตแดนระหว่างประเทศสยามกับประเทศลาวด้วย ว่า[8]

"ฝ่ายเขตแดนในระหว่างเมืองหลวงพระบางข้างฝั่งขวาแม่น้ำโขง แลเมืองพิชัย กับเมืองน่านนั้น เขตแดนตั้งต้นแต่ปากน้ำเฮียงที่แยกจากแม่โขง เนื่องไปตามกลางลำน้ำแม่เฮียง จนถึงที่แยกปากน้ำตาง เลยขึ้นไปตามลำน้ำตางจนบรรจบถึงยอดภูเขาปันน้ำในระหว่างดินแดนน้ำตกแม่โขง แลดินแดนน้ำตกแม่น้ำเจ้าพระยา ตรงที่แห่งหนึ่งที่ภูเขาแดนดิน ตั้งแต่ที่นี้ เขตแดนต่อเนื่องขึ้นไปทางทิศเหนือตามแนวยอดเขาปันน้ำในระหว่างดินแดนน้ำตกแม่โขงแลดินแดนน้ำตกแม่น้ำเจ้าพระยา จนบรรจบถึงปลายน้ำควบแล้ว เขตต่อแดนเนื่องไปตามลำน้ำควบจนบรรจบกับแม่น้ำโขง"

อื่น ๆ

ข้อ 12 แห่งสนธิสัญญา ว่า ประเทศสยามให้สิทธิสภาพนอกอาณาเขตแก่ประเทศฝรั่งเศส โดยกำหนดว่า คนในบังคับฝรั่งเศสมีสิทธิที่จะไม่ขึ้นศาลสยามได้ทั้งในคดีแพ่งและคดีอาญา[9]

ส่วนเนื้อหาอื่น ๆ เป็นการตกลงกันว่า

  • สยามกับฝรั่งเศสจะร่วมมือกันพัฒนาการคมนาคมและการสื่อสารในบริเวณประเทศลาวและประเทศกัมพูชาซึ่งติดต่อกับประเทศสยาม
  • ประเทศสยามจะอุทิศดินแดนบางส่วนในประเทศให้เป็นที่ตั้งที่ดำเนินงานของฝ่ายฝรั่งเศส[10]
  • กำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับการเข้าเป็นคนในบังคับของประเทศฝรั่งเศส[11]
  • ทหารไทยที่จะเข้าไปในบริเวณแม่น้ำโขงต้องเป็นผู้ถือสัญชาติไทยเท่านั้น ยกเว้นตำรวจภูธรของไทยที่มีผู้บังคับบัญชาเป็นชาวเดนมาร์ก ถ้าสยามจะใช้คนสัญชาติอื่น ต้องแจ้งให้ฝรั่งเศสทราบก่อน
  • ในมณฑลบูรพา สยามจะจัดให้มีแต่พลตระเวนเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยเท่านั้น
  • สยามอนุญาตให้ฝรั่งเศสใช้ที่ดินบริเวณ เชียงคาน หนองคาย เมืองสนัยบุรี ปากแม่น้ำคาน มุกดาหาร เมืองเขมราฐ ปากแม่น้ำมูล ตามรายละเอียดในสนธิสัญญา พ.ศ. 2436
  • ถ้าข้อความทั้งสองภาษามีความขัดแย้งกัน ให้ใช้ภาษาฝรั่งเศสเป็นหลัก